ความก้าวหน้างของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

จีเอ็มโอ (GMOs) คือ อะไร (What is GMOs ?)


จีเอ็มโอ ย่อมาจากคำภาษาอังกฤษว่า Genetically Modified Organisms (GMOs) คือ สิ่งมีชีวิตซึ่งไม่ว่าจะเป็นพืช หรือสัตว์ หรือแบคทีเรีย หรือ จุลินทรีย์ ที่ถูกดัดแปลง พันธุกรรมจากกระบวนการทาง พันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering)

โดยจากการตัดเอายีน(gene)ของสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง มาใส่เข้าไปในยีน(gene)ของสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง โดยตามปกติไม่เคยผสมพันธุ์กันได้ในธรรรมชาติ เพื่อให้สิ่งมีชีวิตชนิดนั้น ที่มีคุณลักษณะหรือคุณสมบัติตามที่ต้องการ ซึ่งสิ่งมีชีวิตที่ถูกนำยีน(gene)มาใส่เข้าไปแล้วก็คือ จีเอ็มโอ(GMOs) ตัวอย่างเช่น นำยีน(gene)ทนความหนาวเย็นจากปลาขั้วโลกมาผสมกับมะเขือเทศเพื่อให้มะเขือเทศปลูกในที่ที่อากาศหนาวเย็นได้ นำยีน(gene)จากแบคทีเรียชนิดหนึ่งมาใส่ในยีน(gene)ของถั่วเหลืองเพื่อให้ถั่วเหลืองทนทานต่อยาปราบวัชพืช นำยีน(gene)จากไวรัสมาใส่ในมะละกอเพื่อให้มะละกอต้านทานโรคไวรัสใบด่างวงแหวนได้ เป็นต้น
          โดยพืชที่ได้รับการตัดต่อยีน(gene)จากกระบวนการทางพันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering) อาจเรียกแบบเฉพาะได้ว่า Transgenic Plant ส่วนคำว่า จีเอ็มโอ(GMOs)เป็นคำที่เรียกสิ่งมีชีวิตทั่วไปที่ได้รับการตัดต่อยีน(gene)
          พืชจีเอ็มโอ (GMOs)ที่มีขายตามท้องตลาดในปัจจุบัน ได้แก่ ถั่วเหลือง, ข้าวโพด, มันฝรั่ง, มะเขือเทศ, มะละกอ, ฝ้าย, คาโนลา (Canola) (พืชให้น้ำมัน) และ สควอช (Squash)

พืช GMOs หรือ พืชดัดแปลงพันธุกรรม คือ
พืชที่ได้รับการคัดเลือกให้มาผ่านกระบวนการทางพันธุวิศวกรรม(Genetic Engineering) เพื่อที่จะให้พืชชนิดนั้นมีคุณลักษณะหรือคุณสมบัติที่จำเพาะเจาะจงตรงตามความต้องการ เช่น พืชที่ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศที่ไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโต, พืชที่มีความสามารถต้านทานแมลงศัตรูพืชได้, พืชที่มีสารอาหารทางโภชนาการหรือสารชีวโมเลกุลบางชนิดที่เพิ่มขึ้น เช่น มี โปรตีน หรือ วิตามิน หรือ ไขมัน ที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น
           พืช GMOs หรือ พืชดัดแปลงพันธุกรรมถือว่าเป็น จีเอ็มโอ (GMOs – Genetically Modified Organisms) หรือ สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ประเภทหนึ่ง ซึ่งพืชที่ผ่านการตัดต่อยีน (gene) แล้วจากกระบวนการทางพันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering) มีอีกชื่อเรียกหนึ่งที่มักเรียกกัน นั่นคือ “Transgenic Plant”
          พืชจีเอ็มโอ (พืช GMOs) ที่ได้มีการวางจำหน่ายแล้วตามท้องตลาดในปัจจุบัน ได้แก่ ข้าวโพด, มะเขือเทศ, ถั่วเหลือง, ฝ้าย, มันฝรั่ง, มะละกอ, สควอช (Squash) และ คาโนลา (Canola) (พืชที่ให้น้ำมัน)

ตัวอย่างของ พืช GMOs หรือ พืชดัดแปลงพันธุกรรม (Examples of GMOs, Plants)
          มะเขือเทศ GMOs
          ทำให้ได้มะเขือเทศมีลักษณะที่ดีขึ้น มีความทนทานต่อโรคมากขึ้น จากการที่ใส่ antisense gene ของยีน(gene)ที่ผลิตเอนไซม์ polygalacturonase (PG) ทำให้เอนไซม์ polygalacturonase ถูกรบกวนการแสดงออก มีผลทำให้เนื้อของมะเขือเทศมีความแข็งมากขึ้นทำให้ลดความเสียหายหรือการบอบช้ำขณะทำการขนส่งลง ทำให้มะเขือเทศเน่าช้าลงหลังจากที่เก็บเกี่ยวแล้ว
          มะละกอ GMOs
          ทำให้ได้มะละกอที่ต้านทานโรคห่าได้ หรือต้านทานโรคไวรัสใบด่างวงแหวนได้ และทำให้ได้มะละกอมีจำนวนเมล็ดที่น้อยลง
          ถั่วเหลือง GMOs
          ทำให้ได้ถั่วเหลืองที่มีลักษณะที่ดีขึ้น จากการนำยีน(gene)จากแบคทีเรียใส่ลงไปในดีเอ็นเอ(DNA)ของถั่วเหลือง ทำให้ถั่วเหลืองมีความสามารถที่ทนทานต่อสารเคมีที่ปราบวัชพืชชนิด Roundup (glyphosate) หรือ glufosinate ได้ดีกว่าถั่วเหลืองแบบทั่วไป มีผลทำให้สามารถใช้สารเคมีชนิด Roundup ได้ในปริมาณที่มากขึ้น ก่อให้เกิดได้ผลผลิตของถั่วเหลืองมีจำนวนมากขึ้นไปด้วย, จากการที่ทำการ knocked out ยีน(gene)เดิมที่ทำให้เกิดไขมันชนิดอิ่มตัว ทำให้ได้ถั่วเหลืองที่มีไขมันชนิดอิ่มตัวน้อยลง, จากการที่นำยีน(gene)พวกยีนบีทีใส่ลงไปในถั่วเหลืองทำให้ถั่วเหลืองสามารถฆ่าหนอนแมลงที่เป็นศัตรูของถั่วเหลืองได้
          ฝ้าย GMOs
          ทำให้ได้ฝ้ายที่สามารถฆ่าหนอนที่เป็นศัตรูของฝ้ายได้ โดยได้ใส่ยีน (gene) ของแบคทีเรียที่ชื่อ Bacillus thuringiensis var. kurataki (B.t.k) แทรกเข้าไปในโครโมโซม(chromosome)ของต้นฝ้าย ทำให้ฝ้ายสามารถที่จะสร้างโปรตีน Cry 1A ที่สามารถฆ่าหนอนที่เป็นศัตรูของฝ้ายได้
          มันฝรั่ง GMOs
          ทำให้ได้มันฝรั่ง (Potato)ที่มีลักษณะที่ดีขึ้น มีคุณค่าทางสารอาหารที่เพิ่มมากขึ้นโดยได้ใส่ยีน(gene)ของแบคทีเรียที่ชื่อ Bacillus thuringiensis แทรกเข้าไปในยีน(gene)ของมันฝรั่ง ทำให้มันฝรั่ง GMOs มีคุณค่าทางสารอาหาร(เพิ่มปริมาณโปรตีน)ที่เพิ่มมากขึ้น และในบางชนิดอาจมีประโยชน์ในทางการแพทย์ที่สามารถผลิตวัคซีนที่เป็นประโยชน์กับมนุษย์ได้อีกด้วย
ข้าวโพด GMOs
ทำให้ได้ข้าวโพดที่มีลักษณะที่ดีขึ้น สามารถสร้างสารพิษทำให้แมลงที่มากัดกินข้าวโพดตายได้ โดยได้ใส่ยีน(gene)ของแบคทีเรียที่ชื่อ Bacillus thuringiensis แทรกเข้าไปในยีน(gene)ของเมล็ดข้าวโพด จึงสามารถทำให้ข้าวโพดสร้างสารที่เป็นพิษต่อแมลงที่เป็นศัตรูของข้าวโพดได้ โดยเมื่อแมลงที่เป็นศัตรูของข้าวโพดมากัดกินข้าวโพด GMOs แมลงก็จะตายลง
อ้อย GMOs
ทำให้ได้อ้อยที่มีลักษณะที่ดีขึ้น ทำให้สามารถต่อต้านยาฆ่าแมลง และมีปริมาณน้ำตาลซูโครสในปริมาณที่สูงขึ้น
ข้าว GMOs
ทำให้ได้ข้าวที่มีลักษณะที่ดีขึ้น สามารถทนแล้ง ทนเค็มได้ หรือ มีสารอาหารอย่างบีต้าแคโรทีน(beta-carotene) ที่เป็นสารเริ่มต้น (precursor)ของวิตามิน A ได้
พริกหวาน GMOs
ทำให้ได้พริกหวานที่มีลักษณะที่ดีขึ้น จากการที่ใส่ยีน(gene) coat protein ของไวรัสลงไปในดีเอ็นเอ(DNA)ทำให้สามารถต้านทานไวรัสได้
สตรอเบอรี่ GMOs
ทำให้ได้สตรอเบอรี่ที่มีลักษณะที่ดีขึ้น อย่างเช่น ผลของสตรอเบอรี่เน่าเสียได้ช้าลง ก่อให้เกิดความสะดวกในการขนส่งมากยิ่งขึ้น ทำให้ผลของสตรอเบอรี่มีสารอาหารเพิ่มมากขึ้น
แอปเปิล GMOs
ทำให้ได้แอปเปิลที่มีลักษณะที่ดีขึ้น คือ ทำให้แอปเปิลมีความสดใหม่และมีความกรอบของผลแอปเปิลเป็นระยะเวลาที่ยาวนานขึ้นหรือคือทำให้ระยะเวลาในการเน่าเสียช้าลง (delay ripening) ทำให้แอปเปิลทนทานต่อแมลงต่างๆ ที่เป็นศัตรูของแอปเปิล
วอลนัท GMOs
ทำให้ได้เม็ดวอลนัทมีลักษณะที่ดีขึ้น คือ ทนทานต่อโรคของวอลนัทมากขึ้น
คาโนลา(Canola) GMOs
ทำให้ได้คาโนลา(Canola)มีลักษณะที่ดีขึ้น ต้านทานยาปราบวัชพืชพวก glyphosate หรือ glufosinate ได้ ทำให้ได้น้ำมันจากคาโนลา(Canola)มากขึ้น
สควอช(Squash) GMOs
ทำให้ได้สควอช(Squash)มีลักษณะที่ดีขึ้น จากการที่ใส่ยีน(gene) coat protein ของไวรัสลงไปในดีเอ็นเอ(DNA)ทำให้สามารถต้านทานไวรัสได้

เทคนิคที่ใช้ในการถ่ายฝากยีนเข้าสู่พืช
ในการทำพืช GMOs ต้องใช้เทคนิคในการถ่ายฝากยีนเข้าสู่พืช เพื่อให้พืชนั้นสามารถแสดงออกในลักษณะตามที่ต้องการได้ โดยเทคนิคเหล่านี้จะทำการส่งถ่ายสารพันธุกรรมจากภายนอก[ซึ่งอาจมาจากแหล่งอื่น เช่น ยีน(gene)จากแบคทีเรีย]เข้าสู่ภายในเซลล์ของพืช ทำให้สารพันธุกรรมจากภายนอกสามารถแทรกตัวเข้าสู่จีโนม(genome)หรือดีเอ็นเอ(DNA)ของพืชชนิดที่ต้องการได้ แล้วทำให้เกิดการแสดงออกในลักษณะที่ยีน(gene)(ที่แทรกตัวเข้าไป)นั้นควบคุมอยู่ได้ รวมทั้งยังสามารถที่จะถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมนั้นต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานได้อีกด้วย พืช GMOs ซึ่งถูกโอนถ่ายยีนเข้าไปนี้อาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าtransgenic plants

ในปัจจุบันการถ่ายฝากยีนจากภายนอกเข้าสู่พืช สามารถที่จะทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์หรือกลุ่มเซลล์หรือเนื้อเยื่อของพืชเป้าหมายที่นำมาถ่ายฝากยีน
วิธีการในการถ่ายฝากยีนเข้าสู่พืช สามารถแบ่งออกเป็น 2 วิธีการหลักๆ คือ
- การถ่ายฝากยีนโดยตรง (direct gene transfer) เช่น การถ่ายฝากยีนโดยใช้เครื่องยิงอนุภาค (biolistic technique), การถ่ายฝากยีนโดยใช้เข็มฉีด (microinjection), การถ่ายฝากยีนโดยใช้กระแสไฟฟ้า (eletroporation) เป็นต้น
- การถ่ายฝากยีนโดยใช้พาหะ (vector-mediated gene transfer) เช่น การถ่ายฝากยีนโดยใช้แบคทีเรีย Agrobacterium (Agrobacterium-mediated gene transfer) เป็นต้น
ในปัจจุบัน วิธีการที่นิยมและประสบความสำเร็จในการถ่ายฝากยีนเข้าสู่พืชได้หลายชนิด ได้แก่
- การถ่ายฝากยีนโดยใช้แบคทีเรีย Agrobacterium
- การถ่ายฝากยีนโดยใช้เครื่องยิงอนุภาค (biolistic technique)

ปัจจัยที่มีส่วนสำคัญในการถ่ายฝากยีนเข้าสู่พืช
การที่จะถ่ายฝากยีนเข้าสู่พืช ให้เป็น พืช GMOs ให้ประสบความสำเร็จได้นั้น จะมักจะขึ้นอยู่กับปัจจัยดังต่อไปนี้
- การเลือกใช้เทคนิคในการถ่ายฝากยีนเข้าสู่พืชให้เหมาะสมกับประเภทหรือชนิดของพืชนั้นๆ หรือ เหมาะกับเซลล์หรือกลุ่มเซลล์หรือเนื้อเยื่อของพืชที่ถูกคัดเลือกมาใช้
- การคัดเลือกเซลล์หรือกลุ่มเซลล์หรือเนื้อเยื่อของพืช ที่มีความสามารถในการพัฒนาเป็นต้นได้ในอัตราส่วนที่สูง เพื่อใช้เป็นเป้าหมายในการถ่ายฝากยีนเข้าไป เช่น เอ็มบริโอ (embryo), แคลลัส (callus) ซึ่งเป็นกลุ่มเซลล์พื้นฐานที่สามารถที่จะชักนำการเจริญเติบโตได้หลายทาง โดยขี้นอยู่กับสารที่ใช้ในการควบคุมการเจริญเติบโตหรือสารเคมีอื่นๆที่ใช้เติมเข้าไปในอาหารเพาะเลี้ยง, เซลล์แขวนลอย (suspension cells) ซึ่งเป็นเซลล์เดี่ยวๆ (single cell)หรือกลุ่มของเซลล์ที่มีขนาดเล็ก (aggregate cells) ที่ถูกเพาะเลี้ยงในอาหารเหลวบนเครื่องหมุนเหวี่ยงอาหาร ทำให้เซลล์เหล่านั้นเกิดการแขวนลอยตัวในอาหาร, เซลล์โปรโตพลาสต์ หรือ โพรโทพลาสต์ (protoplast) ซึ่งเป็นเซลล์ที่ไม่มีผนังเซลล์ (cell wall) โดยจะใช้เอนไซม์ในการย่อยผนังเซลล์ออกไปหรือใช้วิธีกลในการแยกเอาผนังเซลล์ออกมา เป็นต้น
- การใช้ระดับของปัจจัยต่างๆหรือเงื่อนไขต่างๆที่ส่งผลต่อวิธีการถ่ายฝากยีน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการถ่ายฝากยีน
- การเลือกใช้ ส่วนที่ควบคุมการแสดงออกของยีน (promoter), ยีนเครื่องหมายที่ใช้ในการคัดเลือกเซลล์หรือกลุ่มเซลล์หรือเนื้อเยื่อ ของพืชที่มีการแทรกยีน(gene)เข้าในจีโนม(genome)หรือดีเอ็นเอ(DNA)แล้ว (selectable marker gene) หรือ ยีนรายงานผลของการถ่ายฝากยีน (reporter gene) ที่มีประสิทธิภาพสูง และโดยเลือกใช้ให้เหมาะสมกับชนิดของเซลล์หรือกลุ่มเซลล์หรือเนื้อเยื่อ ของพืชที่นำมาทำการถ่ายฝากยีน
การจัดการระบบให้ใช้ระยะเวลาที่สั้นที่สุดของเซลล์หรือกลุ่มเซลล์หรือเนื้อเยื่อของพืชเป้าหมายที่นำมาถ่ายฝากยีน ในการเพาะเลี้ยง การคัดเลือก และการพัฒนาเป็นต้น เพื่อให้ลักษณะทางพันธุกรรมที่ไม่ต้องการซึ่งเกิดจากขั้นตอนการเพาะเลี้ยง (somaclonal variation) ลดลง
           
ข้อดี หรือ ประโยชน์ ของ GMOs (Advantages of GMOs)





ประโยชน์ทางด้านการเกษตร

- ทำให้เกิดพืชที่ให้ผลผลิตมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ผลมีขนาดใหญ่ขึ้น (เช่น มะเขือเทศมีผลขนาดใหญ่ขึ้น), ผลมีปริมาณมากขึ้น (เช่น ปริมาณเมล็ดข้าวต่อต้นมากขึ้น), ผลมีน้ำหนักมากขึ้น (เช่น มะละกอที่มีน้ำหนักมากกว่ามะละกอปกติทั่วไป)
- ทำให้เกิดพืชที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม โดย ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกหรือเจริญเติบโตของพืช ตัวอย่างเช่น พืชที่ทนแล้ง (เช่น ข้าวทนแล้ง), พืชที่ทนต่อดินเค็ม (เช่น ข้าวทนดินเค็ม), พืชที่ทนต่อดินเปรี้ยว เป็นต้น
- ทำให้เกิดพืชที่ทนต่อศัตรูพืช เช่น พืชที่ทนต่อเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคพืช พืชที่ทนต่อเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคพืช พืชที่ทนต่อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคพืช ทนต่อแมลงศัตรูพืช หรือแม้แต่ทนต่อยาฆ่าแมลง และทนต่อยาปราบวัชพืช
- เมื่อทำให้พืชลดการใช้สารเคมี พิษจากสารเคมีที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อเกษตรกรก็ลดลง
- ทำให้เกิดพืชที่มีผลผลิตที่สามารถเก็บรักษาเป็นเวลานาน และอยู่ได้นาน ทำให้ขั้นตอนในการขนส่งสามารถขนส่งในระยะไกลโดยไม่เน่าหรือเสีย เช่น มะเขือเทศที่ถูกทำให้สุกช้า หรือถึงแม้จะสุกแต่ก็ไม่งอม เนื้อยังแข็งและกรอบ ไม่เละเมื่อไปถึงมือผู้บริโภค

ประโยชน์ต่อผู้บริโภค
- ทำให้เกิด พืช ผัก ผลไม้ มีคุณค่าทางโภชนาการเพิ่มมากขึ้น เช่น ทำให้มะเขือเทศมีวิตามินอีมากขึ้น ทำให้ส้มหรือมะนาวที่มีวิตามินซีเพิ่มมากขึ้น ทำให้กล้วยมีวิตามินเอเพิ่มขึ้น เป็นต้น
- ทำให้ลดการขาดแคลนอาหารได้ เนื่องจากการปรับปรุงพันธุ์ให้มีผลผลิตและความต้านทานต่างๆมากขึ้น ทำให้มีผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น ตอบสนองต่อความต้องอาหารที่เพิ่มมากขึ้น
ประโยชน์ด้านการพาณิชย์
- ลดขั้นตอนและระยะเวลาของการผสมพันธุ์พืช ซึ่งหากช่วงชีวิตของพืชที่ต้องการปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีเดิมยาวนานกว่าจะได้ผล และต้องทำการคัดเลือกพันธุ์อยู่หลายครั้ง การทำ GMOsทำให้ขั้นตอนนี้เร็วและแม่นยำยิ่งขึ้นกว่าเดิมมาก
- ทำให้เกิดพืชพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีประโยชน์ในการพาณิชย์ เช่น ดอกไม้หรือพวกไม้ประดับที่มีรูปร่างแปลกกว่าเดิม มีขนาดใหญ่กว่าเดิม สีสันแปลกไปจากเดิม (เช่น กุหลาบสีน้ำเงิน) หรือมีความคงทนกว่าเดิม

ประโยชน์ต่อด้านการอุตสาหกรรม
- หากทำพืช GMOs ให้สามารถลดการใช้สารเคมี และช่วยให้มีผลผลิตมากขึ้นกว่าเดิม  ทำให้ต้นทุนการผลิตลดต่ำลงและเวลาที่ใช้ก็ลดลงด้วย วัตถุดิบที่ได้มาจากภาคการเกษตร เช่น ซังข้าวโพด แกลบ กากถั่วเหลือง อาหารสัตว์ จึงมีราคาถูกลง
- มี GMOs หลายชนิดที่ไม่ใช่พืช ที่ใช้กันอยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น เอนไซม์ที่ใช้ในการผลิตน้ำผักผลไม้ หรือ เอนไซม์ ไคโมซิน (Chymosin) ที่ใช้ในการผลิตเนยแข็งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จาก GMOs และทำมาเป็นเวลานานแล้ว ทำให้ลดทั้งต้นทุนการผลิตและเวลาที่ต้องใช้ลง

ประโยชน์ต่อด้านการแพทย์
- การผลิตวัคซีน หรือยาชนิดต่างๆ ในอุตสาหกรรมยาปัจจุบันนี้ล้วนแล้วแต่ใช้ GMOs ช่วยแทบทั้งสิ้น อีกไม่นานนี้ เราอาจมีน้ำนมวัวที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนหรือตัวยาที่จำเป็นต่อมนุษย์
- ช่วยลดการขาดแคลนยาหรือวัคซีนได้มากขึ้น เพราะ GMOs สามารถช่วยเพิ่มการผลิตสิ่งเหล่านี้ให้เพิ่มขึ้นได้

ประโยชน์ต่อด้านสิ่งแวดล้อม
- หากทำพืช GMOs ให้สามารถป้องกันศัตรูพืชได้เอง จำนวนการใช้สารเคมีชนิดต่างๆเพื่อการปราบศัตรูพืชก็จะลดน้อยลงจนอาจถึงไม่ต้องใช้เลยก็ได้ ทำให้มลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากสารเคมีลดลง
- ก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น เนื่องจากยีนที่มีการแสดงออกที่มีประโยชน์ถูกเลือกให้รับโอกาสในการแสดงออกในสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดมากขึ้น

ข้อเสีย หรือ ผลเสีย ของ GMOs (Disadvantages of GMOs)
ปัญหาด้านของความเสี่ยงต่อผู้บริโภค
- ปัญหาเรื่อง อาจมีสิ่งอื่นเจือปนที่ทำให้เกิดอันตรายจากสารอาหารที่ได้จากจีเอ็มโอ(GMOs) ได้ เช่น เคยมีข่าวว่า คนในสหรัฐอเมริกาเกิดการล้มป่วยและเสียชีวิตเกิดขึ้น ซึ่งมีสาเหตุมาจากการบริโภค กรดอะมิโน L-Tryptophan ซึ่งเป็นสารอาหารที่ได้จากจีเอ็มโอ(GMOs)โดยเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท Showa Denko แต่ความจริงแล้วจีเอ็มโอ(GMOs) ไม่ได้เป็นสาเหตุของอันตราย แต่เกิดจากความผิดพลาดในกระบวนการหลังการทำให้บริสุทธิ์ของผลิตภัณฑ์ โดยในขั้นของการควบคุมคุณภาพ (Quality Control) มีความบกพร่องจนมีสิ่งเจือปนที่ไม่ต้องการเหลืออยู่


- ปัญหาเรื่อง จีเอ็มโอ(GMOs)อาจเป็นพาหะของสารที่เป็นอันตรายได้ อย่างในการทดลองของ Dr.Pusztai ได้ทำการทดลองให้หนูกินมันฝรั่งดิบที่มีสารเลคติน(lectin)เจือปนอยู่ แล้วผลออกมาว่าหนูมีภูมิคุ้มกันลดลง รวมถึงลำไส้ของหนูมีลักษณะบวมอย่างผิดปกติ นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากวิจารณ์การทดลองนี้ว่า มีความบกพร่องในการออกแบบการทดลองรวมถึงในวิธีการทดลอง ซึ่งเชื่อว่าต่อไปจะมีการทดลองที่รัดกุมมากขึ้น และมีคนกังวลว่าดีเอ็นเอ (DNA) จากไวรัสที่ใช้ในการทำจีเอ็มโอ(GMOs) อาจเป็นอันตรายได้
- ปัญหาเรื่อง อาจมีสารบางอย่างจากจีเอ็มโอ(GMOs) มีไม่เท่ากับปริมาณสารปกติในธรรมชาติ (สารที่ไม่ได้เกิดจากการตัดต่อพันธุกรรมแล้วใส่ยีน(gene)ที่จะผลิตสารนั้นโดยตรงลงไป) อย่างมีรายงานว่าถั่วเหลืองที่เกิดจากการตัดต่อพันธุกรรมมีสาร isoflavone {เป็นสารจำพวก phytoestrogen [ซึ่งคล้ายสารจำพวกฮอร์โมนเอสโตรเจน(estrogen)ในคน]} มากกว่าถั่วเหลืองในธรรมชาติเล็กน้อย ซึ่งยังไม่แน่ใจว่า การเพิ่มขึ้นของฮอร์โมน estrogen อาจทำให้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค จีเอ็มโอ(GMOs) หรือเปล่า โดยเฉพาะในเด็กทารก
- ปัญหาเรื่อง อาจการเกิดสารภูมิแพ้(allergen)ซึ่งอาจได้มาจากสิ่งมีชีวิตที่เป็นแหล่งเดิมของยีน(gene)ที่นำมาใช้ทำจีเอ็มโอ(GMOs)นั้น อย่างการใช้ยีน(gene)จากถั่ว Brazil nut มาทำจีเอ็มโอ(GMOs)เพื่อเพิ่มคุณค่าของโปรตีนในถั่วเหลืองให้มากขึ้นสำหรับเป็นอาหารสัตว์ ก่อนที่จะออกจำหน่ายพบว่าจีเอ็มโอ(GMOs)ที่เป็นถั่วเหลืองชนิดนี้อาจทำให้คนกลุ่มหนึ่งเกิดอาการแพ้ได้ เนื่องจากได้รับโปรตีนที่เป็นสารภูมิแพ้จากถั่ว Brazil nut ทางบริษัทจึงได้ระงับการพัฒนาและการจำหน่ายจีเอ็มโอ(GMOs)ชนิดนี้ แต่ถึงอย่างนั้นพืชจีเอ็มโอ(GMOs)ชนิดอื่นๆ ที่มีจำหน่ายอยู่ทั่วโลกในขณะนี้ อย่างพวก ถั่วเหลืองและข้าวโพดนั้น ได้มีการประเมินแล้วว่า มีอัตราความเสี่ยงไม่แตกต่างจากถั่วเหลืองและข้าวโพดที่ปลูกอยู่ทั่วไปในธรรมชาติ
- ปัญหาเรื่อง ความปลอดภัยต่อผู้บริโภคในการตัดต่อพันธุกรรมในสัตว์ อย่างใน วัว หมู ไก่ รวมถึงสัตว์ชนิดอื่นที่จะได้รับ recombinant growth hormone ทำให้อาจมีคุณภาพที่ไม่เหมือนจากในธรรมชาติ และอาจมีสารตกค้าง โดยไม่มีข้อยืนยันชัดเจนในเรื่องนี้ ซึ่งในระบบสรีระวิทยาของสัตว์นั้นมีความซับซ้อนมากกว่าทั้งของในพืชและจุลินทรีย์ อาจมีผลกระทบอื่นๆ ที่ไม่คาดคิดได้จากการตัดต่อพันธุกรรมในสัตว์ ซึ่งอาจมีสารพิษอื่นๆที่ไม่ต้องการตกค้างได้ ทำให้ในการตัดต่อพันธุกรรมในสัตว์ที่เป็นอาหารโดยตรง ต้องมีการพิจารณาของขั้นตอนในการประเมินในด้านความปลอดภัยที่ครอบคลุมมากกว่าการตัดต่อพันธุกรรมในจุลินทรีย์และพืช
- ปัญหาเรื่อง การดื้อยาในการทำจีเอ็มโอ(GMOs)จะใช้ selectable marker ที่มักเป็นยีน(gene)ที่สร้างสารต้านยาปฏิชีวนะ (antibiotic resistance) ในจีเอ็มโอ(GMOs)อาจมีสารต้านยาปฏิชีวนะอยู่ ซึ่งถ้าผู้บริโภคจีเอ็มโอ(GMOs)กำลังอยู่ระหว่างการใช้ยาปฏิชีวนะ อาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล โดยเรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์บอกว่าโอกาสที่จะเกิดขึ้นมีน้อยและสามารถหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขได้ และถ้าหากเชื้อจุลินทรีย์ที่มีตามปกติในร่างกายเกิดได้รับ marker gene เข้าไปในส่วนดีเอ็นเอ(DNA)ของมัน อาจทำให้เกิดจุลินทรีย์สายพันธุ์ใหม่ที่อาจดื้อยาปฏิชีวนะได้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์บอกว่ามีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก แต่ในตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ได้คิดหาวิธีใหม่ที่ไม่ต้องใช้ selectable marker ที่เป็นสารต้านยาปฏิชีวนะ หรือนำยีน(gene)ในส่วนที่สร้างสารต้านปฏิชีวนะออกไปก่อนเป็นจีเอ็มโอ(GMOs)เป็นผลิตภัณฑ์เต็มตัว
- ปัญหาเรื่อง อาจมีส่วนของยีน(gene)จำพวก 35S promoter และ NOS terminator ที่อาจมีอยู่ในเซลล์ของจีเอ็มโอ(GMOs)ซึ่งอาจจะไม่ถูกย่อยในส่วนของกระเพาะอาหารและส่วนของลำไส้ แล้วเข้าสู่เซลล์ปกติของคนที่รับประทานจีเอ็มโอ(GMOs)เข้าไป แล้วอาจทำให้มีการ active ของสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น มีผลอาจทำให้ยีน(gene)ของคนที่รับประทานเข้าไปเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ แต่จากผลการทดลองที่ผ่านๆมาได้มีการยืนยันว่า มีโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก
- ปัญหาเรื่อง บางสิ่งเล็กน้อยที่ต้องระวัง เช่น เด็กทารกซึ่งอาจย่อยดีเอ็นเอ(DNA)ในอาหารได้ไม่สมบูรณ์หากเทียบกับผู้ใหญ่ เนื่องจากเด็กทารกมีระบบทางเดินอาหารที่สั้นกว่าของผู้ใหญ่ แต่อาจทำให้เกิดอันตรายค่อนข้างต่ำ แต่ก็ต้องทำการศึกษาวิจัยต่อไป
ปัญหาด้านของความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อม
- ปัญหาเรื่อง สารพิษบางชนิดที่ใช้ปราบแมลงศัตรูพืช อาจกระทบถึงแมลงและสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆที่มีประโยชน์ต่อพืช เช่น Bt toxin ที่มักใส่ในจีเอ็มโอ(GMOs) อย่างผลการทดลองของ Losey มหาวิทยาลัย Cornell ได้ศึกษาผลกระทบของสารฆ่าแมลงของเชื้อ Bacillus thuringiensis (บีที) ในข้าวโพดตัดต่อพันธุกรรมที่มีต่อผีเสื้อ Monarch ในการทดลองนี้ทำในสถานที่ทดลองภายใต้สภาวะเงื่อนไขที่ Stress โดยให้ผลเพียงในขั้นต้นเท่านั้น ซึ่งต้องมีการทดลองในภาคสนามอีกเพื่อให้ได้ผลที่มีนัยสำคัญ ก่อนที่จะมีการสรุปผลและมีการนำไปขยายความต่อไป
- ปัญหาในเรื่อง การนำจีเอ็มโอ(GMOs)ออกสู่สิ่งแวดล้อมทั่วไป โดยอาจมีผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งอาจทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ที่มีลักษณะเด่นเหนือกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมในธรรมชาติมากจนกลืนสายพันธุ์ดั้งเดิมในธรรมชาติให้หายไปหรือสูญพันธุ์ไป หรืออาจเกิดลักษณะเด่นอะไรบางอย่างถูกถ่ายทอดไปยังสายพันธุ์ที่ไม่ต้องการ หรืออาจทำให้ศัตรูพืชดื้อต่อสารเคมีปราบศัตรูพืช อาจทำให้เกิด สุดยอดแมลง(super bug)” หรือ สุดยอดวัชพืช(super weed)”ได้

ปัญหาด้านของเศรษฐกิจและสังคม
- ปัญหาในเรื่องอื่น ที่ไม่ใช่เรื่องวิทยาศาสตร์ เช่น การผูกขาดทางสินค้าจีเอ็มโอ(GMOs)ของบริษัทเอกชนที่จดสิทธิบัตรเกี่ยวกับจีเอ็มโอ(GMOs)นั้น ทำให้ในอนาคตอาจเกิดความไม่มั่นคงทางด้านอาหารได้และไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ต่อไป รวมถึง ปัญหาในเวทีการค้าระหว่างประเทศที่กีดกันสินค้าจีเอ็มโอ(GMOs)

ข้อแตกต่างระหว่าง GMOs กับ GMO (Difference between GMOs and GMO)

            GMOs ย่อมาจากคำว่า Genetically Modified Organisms ส่วน GMO ย่อมาจากคำว่าGenetically Modified Organism ซึ่งคือ GMOs เป็นรูปพหูพจน์ของ GMO โดยที่ GMO เป็นรูปเอกพจน์ หมายความว่าตัว s ที่ตามหลังคำว่า GMO ทำให้ GMOs เป็นรูปพหูพจน์ ดังนั้น ความแตกต่างระหว่าง GMOs และ GMO คือ คำว่า GMO กล่าวถึงสิ่งมีชีวิตที่ถูกดัดแปลงทางพันธุกรรมเพียงตัวเดียวหรือเพียงต้นเดียว ส่วน GMOs กล่าวถึงสิ่งมีชีวิตที่ถูกดัดแปลงทางพันธุกรรมที่มากกว่า 1 ตัวหรือ 1 ต้น ขึ้นไป



แหล่งข้อมูลอ้างอิง :



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ประเพณีแห่เทียนพรรษา